ต่อลมหายใจ ให้ส้มบางมด
ต่อลมหายใจ ให้ส้มบางมด ผู้เขียน: กษมาภรณ์ มณีขาว เคยสงสัยไหมว่า “ส้มบางมด” มีลักษณะเป็นอย่างไร ? ปลูกที่ไหน ? แล้วปัจจุบันยังมีอยู่หรือเปล่า ?
คำตอบของคำถามเหล่านั้นอยู่ในเอกสาร “ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มบางมด” คำนิยาม “ส้มบางมด” “ส้มบางมด หมายถึง ส้มพันธุ์เขียวหวาน ที่มีลักษณะผลทรงกลมมน หรือแป้นเล็กน้อยผิวส้มมีรอยแตกเป็นเส้นลาย เปลือกบาง ชานนิ่ม ปอกง่าย กลีบแยกออกจากกันง่าย ผนังกลีบบาง มีรกน้อย เนื้อสีส้ม รสชาติหวาน อมเปรี้ยว ซึ่งปลูกในพื้นที่ 8 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตจอมทอง เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตหนองแขม” จากคำนิยามดังกล่าวทำให้เรารู้ว่า ส้มบางมดเป็นส้มเขียวหวานที่มีลักษณะเฉพาะ ของตัวเอง และสวนส้มบางมดก็มีกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่เชื่อมติดกัน เป็นแผ่นดินผืนใหญ่ โดยพื้นที่เหล่านี้มีลำคลองใหญ่น้อยมากมายเชื่อมต่อถึงกัน และมีบริเวณที่ติดทะเลอยู่ที่เขตบางขุนเทียน
เหตุใดส้มบางมดถึงมีรสอร่อย? ในสูจิบัตรของนิทรรศการ “ภาพวิถีฝั่งธนฯ” ในงานรฦกธนบุรี ๒๕๐+ ซึ่งจัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้อธิบายสภาพดินย่านฝั่งธนบุรีในสมัยก่อน ที่ทำให้ผลไม้มีรสอร่อย พร้อมรายชื่อผลไม้ ชื่อดังในแต่ละพื้นที่ว่า “ความเป็นสวนของเมืองบางกอกยังแบ่งออกเป็น “สวนบางบน” กับ “สวนบางล่าง” โดยตอนเหนือขึ้นไปจาก คลองบางกอกน้อยเป็น “บางบน”ต่ำกว่า คลองบางหลวงลงมาทางใต้เป็น “บางล่าง” ทั้งสองบางมีผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยเลื่องชื่อ เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเล ผืนดินจึงได้รับตะกอนดินและแร่ธาตุ อันอุดมสมบูรณ์ ทั้งจากตะกอนน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม สภาพดินจึงเป็นแบบ ลักจืดลักเค็ม มีธาตุอาหารที่เหมาะแก่การปลูกผลหมากรากไม้ ซึ่งให้รสชาติดี จนเป็นที่กล่าวถึงแหล่งปลูกตามบางต่าง ๆ อาทิ เงาะบางยี่ขัน สับปะรดบางบำหรุ ฝรั่งบางเสาธง ส้มบางมด พลูบางไส้ไก่ ลิ้นจี่บางขุนเทียน ทุเรียนเมืองนนท์ หมากบางล่าง เป็นต้น” ปัจจุบัน คำเรียกเหล่านี้ได้เลือนหายไป เพราะพื้นที่ที่เคยเป็นสวนผลไม้ ส่วนใหญ่ได้แปรเปลี่ยนเป็นสิ่งปลูกสร้าง ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เสื่อมสภาพ แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่เคยใสสะอาดก็ไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกต่อไป โชคดีที่ยังมีหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกรบางส่วนที่พยายามอนุรักษ์ และส่งเสริมการปลูกผลไม้ในบางพื้นที่ ดังเช่น ส้มบางมด
ทำไมมีคนบอกว่าส้มบางมดไม่มีแล้ว? สวนส้มบางมดที่ครั้งหนึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองจนมีคนปลูกรวมกัน หลายหมื่นไร่ ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งจากภาวะภัยแล้งและอุทกภัย ที่เกิดขึ้นสลับกันไปมาหลายครั้งหลายครา เช่น - ปี 2526 มีพายุดีเปรสชัน 2 ลูกพัดผ่านเข้าประเทศไทยทำให้ฝนตกหนัก ประจวบกับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าปกติ 2 เมตร สวนส้มบางมดได้รับความเสียหาย ชาวสวนขาดทุนเป็นจำนวนมาก เมื่อน้ำลด ชาวสวนก็กลับมาปลูกส้มอีก แต่เกิดปัญหาเรื่องสภาพดินเค็ม ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถ แก้ปัญหาให้หมดสิ้นไปได้ - ปี 2533 เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงไหลทะลักย้อนเข้ามาตามลำคลอง ท่วมสวนส้ม ทำให้ต้นส้มล้มตายเพราะรากเน่า น้ำกลายเป็นน้ำกร่อย ดินก็กลายเป็น ดินเค็มไม่อาจฟื้นฟูให้คืนสภาพเดิมได้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังตัวอย่างที่ยกมาทำให้เกษตรกรที่เช่าที่ทำสวนจำต้อง เลิกทำ เกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่บางส่วนก็เปลี่ยนอาชีพไปเลี้ยงกุ้ง บางส่วน ก็ขายที่ให้แก่โครงการบ้านจัดสรร โรงงาน หรืออาคารพาณิชย์
ใครทำอะไรเพื่อส้มบางมดบ้าง? ความพยายามในการอนุรักษ์และฟื้นฟู สวนส้มบางมดเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น - ปี 2540-2541 ชาวสวนส้ม แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน รวมกลุ่มจัดตั้ง “กลุ่มเกษตรพัฒนาสวนส้มบางมด” มีการทำสวนเกษตรปลูกส้มร่วมกับไม้ผล ชนิดอื่นและพืชล้มลุกในรูปแบบสวนผสม - ปี 2546 สำนักเขตจอมทองทำโครงการ อนุรักษ์และฟื้นฟูสวนส้มบางมด อันเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจาก พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) ความพยายามเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเกษตรกร ผู้เขียนเป็นเพียงผู้สนใจและมีโอกาสพบปะ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงบางคน แต่ถึงกระนั้น ก็สามารถสัมผัสได้ถึงความพยายาม ในการต่อลมหายให้ส้มบางมด ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการอนุรักษ์ส้มบางมด มาจากแรงบันดาลใจของเกษตรกร การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ และการมีแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชน
แรงบันดาลใจ หากปราศจากความร่วมมือของเกษตรกร ย่อมไม่มีทางที่ส้มบางมดจะอยู่รอดได้ ผู้เขียนเคยดูคลิปวิดีโอการให้สัมภาษณ์ของเจ้าของสวนส้มบางมด และรับฟังความรู้สึก จากปากของเกษตรกรบางคน พบว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้เกษตรกรหลายคน ยังกัดฟันพยายามอนุรักษ์ส้มบางมดไว้ คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เมื่อครั้งทรงเสด็จฯ มายังวัดทุ่งครุ เพื่อทรงเป็นประธานตัดหวายลูกนิมิตในพิธี ผูกพัทธสีมา (ฝังลูกนิมิต) ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ว่า “ส้มบางมด อร่อยมาก ให้อนุรักษ์ส้มบางมดไว้” ด้วยแรงบันดาลใจดังกล่าว และด้วยความรัก ความภาคภูมิใจในการปลูก ส้มบางมดซึ่งเป็นอาชีพที่เคยทำมายาวนาน เกษตรกรจึงต้องการให้ชื่อของส้มบางมด ยังคงได้รับการกล่าวขาน โดยพยายามพัฒนาเทคนิคการปลูก และร่วมมือกับ หน่วยงานภาครัฐในการอนุรักษ์พันธุกรรมส้มในพื้นที่บางมด
การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งพยายามสนับสนุนการฟื้นฟูส้มบางมด เช่น กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยและนำกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานที่แข็งแรง มาให้ชาวสวนในพื้นที่ทดลองปลูก สำนักงานเขตพื้นที่ต่าง ๆ สนับสนุนเรื่องปุ๋ย ดินและความรู้แก่เกษตรกร นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บางมด เป็นสถาบันที่สนับสนุนการฟื้นฟูส้มบางมดมากที่สุด โดยมีนักวิชาการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับเกษตรกรมานานหลายปี เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องโรคพืช ปัญหาดินเป็นกรด รวมทั้งสนับสนุนการบำรุงดิน โดยการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารสกัดสมุนไพรป้องกันกำจัดโรคและแมลง โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่แทนการใช้ปุ๋ยและยาที่เป็นสารเคมีราคาแพง
คณวาสนา มานิช นักวิจัยสังกัดศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า “การดำเนินการของมหาวิทยาลัย เป็นการนำองค์ความรู้เข้าไป ประสานและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชาวสวนส้มที่ประสบปัญหา ใน 5 ส่วนหลักๆ คือ เรื่องดิน น้ำ การจัดการศัตรูพืช พันธุ์พืช และการซ่อมบำรุงเครื่องมือทางการเกษตร ซึ่งในการแก้ปัญหาของชาวสวนส้ม ที่ผ่านมา จะเป็นการนำภูมิปัญญาประกอบกับประสบการณ์มาใช้ ในการแก้ปัญหา แต่ยังขาดความถูกต้องในทางวิชาการ เราจึงเป็นเพียง ผู้นำความรู้เข้าไปช่วยเติมเต็มให้กับเกษตรกร เพื่อนำไปต่อยอด และประยุกต์ใช้ต่อไป”
อีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ สำนักงานเขตจอมทอง ที่กำกับดูแล ให้วิสาหกิจชุมชนจอมทองพัฒนายื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส้มบางมด ในปี 2560 ทำให้ปัจจุบันคำว่า “ส้มบางมด” เป็นชื่อสินค้าที่ได้รับ ความคุ้มครองคือใช้ได้เฉพาะชุมชนที่กำหนดไว้ 8 เขตเท่านั้น นอกจากนั้น ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาด คือ ทำให้ส้มบางมดมีมูลค่าเพิ่ม เพราะได้รับ การรับรองมาตรฐานของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อในเรื่องของแหล่งที่มา และคุณภาพ นอกจากนั้น การขึ้นทะเบียนยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย ทั้งนี้ ถ้าเกษตรกรปฏิบัติตามขั้นตอนและข้อกำหนดต่าง ๆ ในเอกสารหมายเลข 4.3 ของ “โครงการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) สินค้าส้มบางมด กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564” ก็สามารถใช้ “ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สินค้าส้มบางมด” ติดที่ ตัวสินค้าได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาสินค้าสูงกว่า ท้องตลาดได้
แหล่งเรียนรู้เพื่อลูกหลาน การอนุรักษ์ใด ๆ จะยั่งยืนได้ถ้าเราให้ความรู้ที่ถูกต้องและปลูกฝังความรู้สึกผูกพัน ให้เกิดกับคนรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศ สำนักงาน เขตทุ่งครุ และชุมชนในพื้นที่ทุ่งครุ จึงสร้าง “แหล่งเรียนรู้ชุมชน” และ “มุมเรียนรู้ส้มบางมด” โดยมีโรงเรียนรางราชพฤกษ์นุชมีอุทิศเป็นโรงเรียนต้นแบบ ทางโรงเรียนสร้างกระบวน การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยเด็ก ๆ สามารถ เรียนรู้ประวัติส้มบางมด และการปลูกส้มบางมด ภายในห้องสมุดของโรงเรียน คุณพรรณปพร กองแก้ว นักวิจัยของมจธ. และหัวหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพ การศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น : การอนุรักษ์พันธุกรรมส้มบางมด เคยกล่าวกับ สำนักข่าวแห่งหนึ่งว่า “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ นอกห้องเรียนโดยบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของชุมชน เป็นการร่วม สนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)”
นอกจากในสถานศึกษาแล้ว ยังมีเกษตรกรบางรายที่เปิดสวนของตนเอง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับเกษตรกรท่านหนึ่งคือ คุณสมจิตร จุลมานะ ซึ่งเป็นกูรู เรื่องการปลูกส้ม และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ในการอนุรักษ์ส้มบางมด ทั้งโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สั่งสมมานานให้แก่ ผู้สนใจ และโดยการปลูกส้มทั้งแบบแปลงยกร่องและแบบใส่เข่ง ในพื้นที่ขนาดย่อม ท่านบอกว่า “ที่ยังคงทำเพราะใจมันรัก แล้วในหลวงก็เคยบอกให้อนุรักษ์ ส้มบางมดไว้” ในปัจจุบัน ด้วยวัย 73 ปี คุณสมจิตรยังคงพยายามหากิ่งพันธุ์ส้ม ที่แข็งแรงมาปลูก ดูแลสวนส้มด้วยการผสมผสานองค์ความรู้เดิมและความรู้ สมัยใหม่ และหาทางแก้ปัญหาเรื่องโรคพืชในส้มโดยเฉพาะโรคกรีนนิ่ง ผู้เขียน เคยถามว่าเอาส้มไปขายที่ไหน ท่านตอบด้วยสีหน้าขำ ๆ ว่า “ไม่ได้ขายสักลูก... แจกหมด” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสวนของท่านมีขนาดเล็ก ผลผลิตจึงมีพอเฉพาะ สำหรับการรับประทานเอง แจกญาติสนิทมิตรสหายและคนที่สนใจเข้าไปศึกษา เรียนรู้เท่านั้น
สวนส้มอีกแห่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ “สวนส้มในฝัน” ของคุณสุพร วงศ์จินดา เป็นสวนแรกจากทั้ง 8 เขตในย่านบางมดที่ปลูกส้มเพื่อการอนุรักษ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้แก่คนทั่วไป นอกจากนั้นยังเป็นสวนส้มที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช้สารเคมีเลยอีกด้วย ส่วนสวนส้มที่นักท่องเที่ยวที่เคยมาบางมดมักจะรู้จัก คือ สวนของผู้ใหญ่ชาติ เป็นสวนส้มที่ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์และเปิดเป็น แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่
ประชาชนทั่วไปช่วยอนุรักษ์ได้ไหม? ผู้เขียนเชื่อว่า ส้มบางมดจะยังมีลมหายใจต่อไป ด้วยความพยายามของหน่วยงาน ภาครัฐและเกษตรกร ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ก็สามารถร่วมอนุรักษ์ชื่อเสียง ของส้มบางมดได้โดยการปลูกส้มในเข่ง ซึ่งประหยัดพื้นที่ และสามารถเลี่ยงปัญหา เรื่องคุณภาพของดินและน้ำที่ไม่เหมาะสมตามธรรมชาติได้ ส่วนประชาชนที่เป็น คนนอกพื้นที่ก็สามารถสนับสนุนได้โดยการทำความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับส้มบางมด อุดหนุนสินค้าของเกษตรกรในพื้นที่ เดินทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในย่านบางมดโดยใช้บริการของวิสาหกิจชุมชน เช่น กัมปงในดงปรือ และตลาด มดตะนอย เป็นต้น และที่สำคัญคือช่วยกันอนุรักษ์สภาพแวดล้อม เช่น ไม่ทิ้ง สิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำลำคลองหรือเรือกสวนที่ย่างก้าวเข้าไป
บ ร ร ณ า นุ ก ร ม กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2561). (GI), สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 102. สช 61100102 ส้มบางมด. เข้าถึงได้จาก http://www.ipthailand.go.th/th/gi-011/item/102.สช 61100102 ส้มบางมด กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2564). เอกสารหมายเลข 4.3 ของ “โครงการจัดทำระบบ ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal Control) สินค้าส้มบางมด กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564”. เข้าถึงได้จาก https://sola.pr.kmutt.ac.th/eng/no1.html จุรีพร กาญจนการุณ. (2551). วิถีชุมมชนทีเปลี่ยนไปของเกษตรกรชาวสวน ส้มบางมด. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ปีที่ 5 ฉบับที่ 1. เข้าถึงได้จาก https://so05.tci- thaijo.org/index.php/gvc-tu/article/view/30869/26629 ไทยรัฐออนไลน์. (2554). แง้มภาพความหลัง น้ำท่วมกรุงวิกฤติ! 2526-2538. เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/content/210756 มติชนออนไลน์. (2560). มจธ. ผนึก ‘โรงเรียน-ชุมชน’ ‘ปลูกส้มเข่ง’ พลิกฟื้น ‘ส้มบางมด’. เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/education /news_689133 วาสนา มานิช. (2557). ทำไมส้มบางมดถึง (เกือบ) หายไป. วารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 18 (ฉบับที่1), 1-12. เข้าถึงได้จาก http://www.ej.eric.chula.ac.th/ content/6126/203 วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2563). อุทกภัยในประเทศไทยพ.ศ. 2526. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/อุทกภัยในประเทศไทย_พ.ศ._2526 วิศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2560). นิทรรศการ “ภาพวิถีฝั่งธนฯ” ในงานรฦก ธนบุรี ๒๕๐+ (สูจิบัตร).
บ ร ร ณ า นุ ก ร ม สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (ม.ป.ป.). การเดินทางของ “ส้มบางมด”.เข้าถึงได้จาก https://www.lib.kmutt.ac.th/ som-bangmods-journey-1/ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. (ม.ป.ป.). บทบาทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับการอนุรักษ์สวน “ส้มบางมด”. เข้าถึงได้จาก https://www.lib.kmutt.ac.th/som-bangmods-journey-2/ อัจฉราวดี ศรีสร้อย. (2562). ล่องเรือตามหา ‘ส้มบางมด’ ที่หายไป. เข้าถึงได้จาก https://urbancreature.co/oranges-bang-mod-thonburi/ ASTVผู้จัดการออนไลน์. (2561). มจธ.ระดมความรู้พลิกฟื้น ส้มบางมด. เข้าถึงได้จากhttps://eosgear.com/th/news/มจธ.ระดมความรู้ พลิกฟื้น%20ส้มบางมด
Search
Read the Text Version
- 1 - 16
Pages: